กินอะไรทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนได้บ้าง

Category: Anti aging | December 18, 2019
โดย แพทย์หญิงสาริษฐา สมทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแอนไทเอจจิ้ง ด้านระบบประสาทและสมอง และด้านกุมารเวช
     เอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนในวัยสืบพันธุ์ เพื่อทำให้รังไข่พร้อมพร้อมที่จะมีลูก ฮอร์โมนตัวนี้คือทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลสำหรับวัยเจริญพันธุ์ แต่สำหรับคนที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือวัยทอง และยังมีความรู้สึกติดอยู่ในวัยนั้น พอขาดไปจึงมักส่งผลต่อการใช้ชีวิต รู้สึกห่อเหี่ยว ผิวพรรณไม่ชุ่มชื้น เรื่องเซ็กซ์มีปัญหา ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นต้น พวกเขาเหล่านั้นจึงมีความรู้สึกว่าชีวิตขาดหายไป ซึ่งจะมีอาการที่พบได้บ่อยคือ 
     - มีอาการร้อนวูบวาบ 
     - หงุดหงิดง่าย  
     - ผิวแห้ง
     - มีกิจกรรมทางเพศลดลง 
     - กระดูกพรุน 
     โดยการอาการทั้งหมดนี้สามารถดูแลรักษาเบื้องต้นได้หากเราเข้าใจ เช่น หากมีอาการร้อนวูบวาบ บางคนก็อาจเข้าใจและสามารถปรับอารมณ์ได้ หากผิวแห้งก็สามารถดูแลได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิว ไม่อาบน้ำอุ่น หรือการดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะกับช่วงวัย ทั้งหมดนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมน เพราะการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีทั้งผลดีและไม่ดีต่อร่างกาย 
     หากย้อนกลับไป 20-50 ปีก่อน คนวัยทองนิยมวิธีการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy, HRT) ซึ่งอยู่ในรูปของการกิน ฉีด ครีมทา หรือฝังเข้าไปในร่างกาย เพื่อคงฮอร์โมนไว้และส่งผลให้ชีวิตดีขึ้น  เมื่อเวลาผ่านไป วงการแพทย์ย้อนกลับมาดูว่าการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนนานๆ ไปอาจมีข้อเสีย บางคนกลับป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 
ในกรณีที่เซลล์ชนิดนั้นๆ ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เซลล์ผิดปกติมากขึ้น จนทำให้เกิดเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเนื้องอกในมดลูก (myoma uteri)  บางคนมีผนังในมดลูกหนาทำให้มีประจำเดือนมากผิดปกติ ทั้งหมดนี้ทำให้ความนิยมของ HRT ลดน้อยลง 
     ต่อมาไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) เป็นที่นิยมในวงการสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากมีโครงสร้างออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง คือฮอร์โมนเอสโตรเจน ไฟโตเอสโตรเจนพบได้ในพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะที่เรารู้จักกันดี คือ ถั่วเหลือง 
     มีรายงานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า หากเราได้รับไฟโตเอสโตนเจนเป็นเวลานานติดต่อกัน 12 สัปดาห์ เมื่อเจาะเลือดผลออกมาพบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เพราะต่อมใต้สมองสั่งว่าได้รับฮอร์โมนมากเพียงพอแล้ว จึงทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดลดลง 
     ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมอาหารเสริมจึงนิยมผลิตอาหารเสริมในรูปถั่วเหลืองออกมามากมาย เนื่องจากเชื่อว่าการได้รับไฟโตเอสโตรเจนแล้วทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดลดลงและลดการเกิดมะเร็งได้ ทำให้คนรับประทานผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองกันเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายมะเร็งก็กลับมา จึงมีการตั้งคำถามว่า โฟโตรเอสโตรเจนมีผลต่อการเกิดมะเร็งหรือไม่? 
     ในที่สุดประมาณปี 2548 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนและด้านธรรมชาติบำบัดกล่าวว่า เราไม่ควรรับประทานไฟโตเอสโตรเจนอย่างเดียวแต่ควรเพิ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) เข้าไปด้วยและควรรับประทานแต่พอดี คือให้รับประทานอาหารที่ให้ฮอร์โมนจากอาหารธรรมชาติแบบสมดุลแทนที่จะเป็นอาหารเสริม จึงไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมน ก็ทำให้มีชีวิตในวัยทองที่ดีได้ 
 

     ตัวอย่างอาหารที่มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตเจนหรือไฟโตเอสโตรเจน
     1. เมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed) 
     2. ถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้  
     3. งาหรือพวกผลิตภัณฑ์ทำจากงา หรือใช้งาผสมในอาหาร ซึ่งได้ไขมันดีและไฟโตเอสโตรเจน รวมถึงแร่ธาตุอื่นๆ เช่น ซิงค์ แคลเซียม และวิตามิน
     4. ถั่วต่างๆ 
       สารตัวหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างเอสโตรเจนได้ คือ ลิกแนนซ์ (LIGNANS) สารตัวนี้มีอยู่ในอาหารจำพวกผัก ผลไม้ แต่ต้องใช้เอนเทอโรแบคเตอร์ในลำไส้ย่อยออกมาถึงจะได้ฮอร์โมนเอสโตรเจน สารลิกแนนซ์พบได้ในเมล็ดแฟล็กซ์ เมล็ดอัลมอนด์ และบร็อกโคลี่ เป็นต้น
     นอกจากนั้นสารโพลีฟีนอลที่มีลักษณะคล้ายกับพวกฮอร์โมนเอสโตรเจนยังพบได้ในกลุ่มผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มะเขือเทศ หม่อน และในกลุ่มพวกที่ให้เบต้าแคโรทีน เช่น แครอต แต่จะมีไม่มาก 
     ดังนั้นเราควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อจะทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำจิตใจให้สงบ ออกกำลังกาย เพื่อคลายความเครียด และสำหรับคนที่หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่คงที่ การรับประทานถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เอพริคอต ก็สามารถส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้น การรับประทานช็อกโกแลตก็สามารถช่วยสร้างเอ็นดอร์ฟินให้เรารู้สึกดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน และทำให้เราสามารถใช้ช่วงชีวิตวัยทองได้อย่างมีความสุข


เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
share