ปรับสมดุลฮอร์โมนสู้สิวในวัยผู้ใหญ่

Category: Anti aging | December 11, 2019
โดย แพทย์หญิงสาริษฐา สมทรัพย์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านแอนไทเอจจิ้ง ด้านระบบประสาทและสมอง และด้านกุมารเวช
  • หากกล่าวถึงในเรื่องของอายุ การเกิดสิวของผู้คนในช่วงวัย 20-30 ปีนั้นเป็นสิวที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่นที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งฮอร์โมนที่พบมากในผู้หญิงคือฮอร์โมนเพศ 
2 ประเภท คือ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) 
     ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดสิว โดยทำให้เกิดการสะสมของไขมันในรูขุมขน จึงก่อให้เกิดสิวในรายต่อมไขมันบางคนทำงานมากเกินไป นอกจากนี้ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังถูกผลิตขึ้นจำนวนมากก่อนมีรอบเดือน จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวขึ้นได้เช่นกัน 
     สิวที่เกิดจากฮอร์โมนนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากต่อมไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังผลิตไขมันมากเกินไป ลักษณะสิวจะเป็นผดเล็กๆ และมีหัวสิวที่มีไขมันอุดตัน ยิ่งถ้าเจอมลภาวะที่เป็นพิษหรือใช้เครื่องสำอางแล้วล้างหน้าไม่สะอาด ลักษณะของสิวผดเหล่านี้อาจเปลี่ยนเป็นสีแดง เนื่องจากเกิดการอักเสบและอาจก่อให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบได้ ซึ่งเกิดได้ทั้งสิวเม็ดใหญ่และสิวเม็ดเล็ก

ขนาดของสิวบ่งบอกอะไร
     ขนาดของสิวนั้นขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคน บางคนนั้นรูขุมขนของผิวไม่เปิดจึงก่อให้เกิด
การอุดตัน มีแบคทีเรียที่ผิวค่อนข้างเยอะก็จะเกิดการอักเสบเป็นสิวเม็ดใหญ่อยู่ข้างใน 
     ดังนั้นไขมันจึงไม่สามารถระบายออกได้ดีเท่ากับคนที่มีรูขุมขนแบบเปิดง่าย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องไปหาหมอและรับยาปฏิชีวนะเพื่อลดอาการอักเสบของผิวหนัง สิวลักษณะนี้บางคนอาจเรียกว่า “สิวหัวช้าง”   
     ช่วงคนที่มีอายุ 30-40 ปี ช่วงวัยนี้จะเกิดสิวบริเวณรอบปาก สาเหตุอันดับแรกเกิดจากฮอร์โมนที่กล่าวข้างต้น อันดับสอง เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และเกี่ยวข้องกับนอร์มอล ฟลอร่า (normal flora) หรือจุลินทรีย์ประจำถิ่นในลำไส้และเกี่ยวข้องกับระบบมดลูกของเรา 
     ส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เกิดจากการรับประทานอาหารหวานหรือมีไขมันสูงมากเกินไป ส่วนใหญ่จะสังเกตได้ว่าหากวันที่เรารับประทานอาหารจำพวกปิ้งย่าง ของทอด ของหวานหรืออดนอนติดต่อกัน วันต่อมาเกิดเป็นสิวหัวใหญ่ๆ และมีสิวรอบปาก รอบคาง 
     ในช่วงวัยนี้จะเกิดความเครียดในการทำงาน การรับประทานอาหารบางอย่างจะเกิดการผิดปกติของนอร์มอลฟลอร่า นอกจากนี้ยังเกิดจากร่างกายไม่มีแบคทีเรียที่ดี ไม่ได้รับประทานอาหารจำพวกโพรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต ถั่ว จึงทำให้เกิดสิวซึ่งไม่ได้เกิดจากการมีรอบเดือนเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการพฤติกรรมในชีวิตประจำวันด้วย
     ช่วงคนที่มีอายุ 40-50 ปี ปกติสิวจะค่อยๆ หายไป ผิวจะเริ่มเปลี่ยนจากที่เคยชุ่มชื้นเป็นแห้ง เริ่มมีริ้วรอย แต่ในบางคนก็เป็นสิวขึ้นมาเม็ดสองเม็ด ไม่ได้มีตำแหน่งชัดเจนเหมือนตอนช่วงวัยรุ่น ลักษณะการเกิดสิวจำพวกนี้เกิดตอนที่เราอยู่ในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน (perimenopausal syndrome) ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศตัวแรกเริ่มลดลง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะค่อยๆ ลดลงให้สมดุลกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งตัวใดหนึ่งอาจลดลงจนหมดก่อนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน 
     การที่สิวจะเกิดการอักเสบขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความเครียด การรักษาความสะอาดของผิวหน้า ลักษณะของรูขุมขนแบบปิดหรือเปิด 
     ถ้าอยากจะรู้ว่ารูขุมขนเรามีลักษณะแบบไหนให้สังเกตว่าเราเป็นคนเหงื่อออกง่ายหรือไม่ หากเหงื่อออกง่ายแสดงว่ารูขุมขนเราเปิดง่ายมากกว่าคนที่เหงื่อออกยาก ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดการอุดตันง่าย มีสิวเม็ดใหญ่ 
     นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนบางตัว เช่น ฮอร์โมนเพศชาย คือ ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งผลิตจากต่อมหมวกไต ในเพศหญิงก็สามารถผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ได้ และการที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง อาจทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนสูงขึ้น ซึ่งภาวะเช่นนี้อาจทำเกิดสิวได้เช่นกัน

วิธีแก้ปัญหาสิว 
     -   ช่วงวัย 20-30 ปี สามารถทำได้ง่ายๆ โดยเบื้องต้น วิธีที่จะไม่ให้เกิดสิว คือ การให้ความสำคัญกับการทำความสะอาด ไม่ใช้สบู่ล้างหน้าที่มีความเป็นด่างมากเกินไป และรักษาความสะอาดใบหน้าไม่ให้มีเครื่องสำอางอุดตัน 
     นอกจากจะดูแลเรื่องอาหาร โดยไม่รับประทานอาหารหวานหรือของทอดแล้ว ควรรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซี รับประทานผักหรืออาหารที่มีกากใย คนที่มีฮอร์โมนมากจะทำเกิดปัญหาสิว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ได้เพราะอาจต้องรับยาฆ่าเชื้อ ยาต้านกลุ่มอนุพันธ์เพื่อทำให้สิวเบาบางลง   
     -  ช่วงวัย 30-40 ปี ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้พอเหมาะเพื่อให้รูขุมขนมีการระบายเหงื่อและของเสียออกมา 
     เมื่ออกกำลังกายเสร็จควรอาบน้ำทำความสะอาดผิวหน้าเพื่อไม่ให้เกิดสิวอุดตันรูขุมขุน ลดการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ไขมันสูง อาหารหวาน และของทอดต่างๆ เพื่อเพิ่มแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ และควรรับประทานอาหารพวกโยเกิร์ตหรือผักดองที่ปรุงเอง
     -  ช่วงวัย 40-50 ปีขึ้นไปหรือช่วงระยะเริ่มต้นของวัยหมดประจำเดือน (Perimenopause) ควรดูแลความสะอาดผิวหน้า ลดความเครียด ดื่มน้ำสะอาดให้พอ ออกกำลังกายให้มีการขับเหงื่อออกมาสม่ำเสมอ 
     หากมีสิวเห่อมาก อาจจะต้องพบแพทย์เพื่อทายาจำพวกที่มีสาร anti-biotic ถ้าหากจะต้องให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริม ในช่วงวัยนี้ควรพิจารณาเป็นกรณีไป

กินอะไรทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนได้บ้าง
     เอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนในวัยสืบพันธุ์ เพื่อทำให้รังไข่พร้อมพร้อมที่จะมีลูก ฮอร์โมนตัวนี้คือทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลสำหรับวัยเจริญพันธุ์ 
     แต่สำหรับคนที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือวัยทอง และยังมีความรู้สึกติดอยู่ในวัยนั้น พอขาดไปจึงมักส่งผลต่อการใช้ชีวิต รู้สึกห่อเหี่ยว ผิวพรรณไม่ชุ่มชื้น เรื่องเซ็กซ์มีปัญหา ร่างกายไม่แข็งแรง เป็นต้น
     พวกเขาเหล่านั้นจึงมีความรู้สึกว่าชีวิตขาดหายไป ซึ่งจะมีอาการที่พบได้บ่อยคือ 
     - มีอาการร้อนวูบวาบ 
     - หงุดหงิดง่าย  
     - ผิวแห้ง
     - มีกิจกรรมทางเพศลดลง 
     - กระดูกพรุน 
     โดยการอาการทั้งหมดนี้สามารถดูแลรักษาเบื้องต้นได้หากเราเข้าใจ เช่น หากมีอาการร้อนวูบวาบ บางคนก็อาจเข้าใจและสามารถปรับอารมณ์ได้ หากผิวแห้งก็สามารถดูแลได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิว ไม่อาบน้ำอุ่น หรือการดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะกับช่วงวัย ทั้งหมดนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมน เพราะการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีทั้งผลดีและไม่ดีต่อร่างกาย 
     หากย้อนกลับไป 20-50 ปีก่อน คนวัยทองนิยมวิธีการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone replacement therapy, HRT) ซึ่งอยู่ในรูปของการกิน ฉีด ครีมทา หรือฝังเข้าไปในร่างกาย เพื่อคงฮอร์โมนไว้และส่งผลให้ชีวิตดีขึ้น  เมื่อเวลาผ่านไป วงการแพทย์ย้อนกลับมาดูว่าการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนนานๆ ไปอาจมีข้อเสีย บางคนกลับป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 
     ในกรณีที่เซลล์ชนิดนั้นๆ ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เซลล์ผิดปกติมากขึ้น จนทำให้เกิดเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเนื้องอกในมดลูก (myoma uteri)  บางคนมีผนังในมดลูกหนาทำให้มีประจำเดือนมากผิดปกติ ทั้งหมดนี้ทำให้ความนิยมของ HRT ลดน้อยลง 
     ต่อมาไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) เป็นที่นิยมในวงการสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากมีโครงสร้างออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง คือฮอร์โมนเอสโตรเจน ไฟโตเอสโตรเจนพบได้ในพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะที่เรารู้จักกันดี คือ ถั่วเหลือง 
     มีรายงานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า หากเราได้รับไฟโตเอสโตนเจนเป็นเวลานานติดต่อกัน 12 สัปดาห์ เมื่อเจาะเลือดผลออกมาพบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง เพราะต่อมใต้สมองสั่งว่าได้รับฮอร์โมนมากเพียงพอแล้ว จึงทำให้ระดับฮอร์โมนในเลือดลดลง 
     ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมอาหารเสริมจึงนิยมผลิตอาหารเสริมในรูปถั่วเหลืองออกมามากมาย เนื่องจากเชื่อว่าการได้รับไฟโตเอสโตรเจนแล้วทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดลดลงและลดการเกิดมะเร็งได้ ทำให้คนรับประทานผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองกันเป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายมะเร็งก็กลับมา จึงมีการตั้งคำถามว่า โฟโตรเอสโตรเจนมีผลต่อการเกิดมะเร็งหรือไม่? 
     ในที่สุดประมาณปี 2548 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนและด้านธรรมชาติบำบัดกล่าวว่า เราไม่ควรรับประทานไฟโตเอสโตรเจนอย่างเดียวแต่ควรเพิ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) เข้าไปด้วยและควรรับประทานแต่พอดี คือให้รับประทานอาหารที่ให้ฮอร์โมนจากอาหารธรรมชาติแบบสมดุลแทนที่จะเป็นอาหารเสริม จึงไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมน ก็ทำให้มีชีวิตในวัยทองที่ดีได้ 
 

ตัวอย่างอาหารที่มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตเจนหรือไฟโตเอสโตรเจน
     1. เมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed) 
     2. ถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้  
     3. งาหรือพวกผลิตภัณฑ์ทำจากงา หรือใช้งาผสมในอาหาร ซึ่งได้ไขมันดีและไฟโตเอสโตรเจน รวมถึงแร่ธาตุอื่นๆ เช่น ซิงค์ แคลเซียม และวิตามิน
     4. ถั่วต่างๆ 
     สารตัวหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างเอสโตรเจนได้ คือ ลิกแนนซ์ (LIGNANS) สารตัวนี้มีอยู่ในอาหารจำพวกผัก ผลไม้ แต่ต้องใช้เอนเทอโรแบคเตอร์ในลำไส้ย่อยออกมาถึงจะได้ฮอร์โมนเอสโตรเจน สารลิกแนนซ์พบได้ในเมล็ดแฟล็กซ์ เมล็ดอัลมอนด์ และบร็อกโคลี่ เป็นต้น
     นอกจากนั้นสารโพลีฟีนอลที่มีลักษณะคล้ายกับพวกฮอร์โมนเอสโตรเจนยังพบได้ในกลุ่มผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มะเขือเทศ หม่อน และในกลุ่มพวกที่ให้เบต้าแคโรทีน เช่น แครอต แต่จะมีไม่มาก 
     ดังนั้นเราควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อจะทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำจิตใจให้สงบ ออกกำลังกาย เพื่อคลายความเครียด และสำหรับคนที่หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่คงที่ การรับประทานถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เอพริคอต ก็สามารถส่งผลให้อารมณ์ดีขึ้น การรับประทานช็อกโกแลตก็สามารถช่วยสร้างเอ็นดอร์ฟินให้เรารู้สึกดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน และทำให้เราสามารถใช้ช่วงชีวิตวัยทองได้อย่างมีความสุข

ชะลอวัยในวัยหมดประจำเดือนอย่างไรดี 
     •    เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด
     ในช่วงวัย 45-50 ปี ฮอร์โมนในร่างกายของบางคนอาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากฮอร์โมนของแต่ละคนมีมากน้อยไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราไม่ควรยึดติดกับอายุตัวเอง 
     ตัวอย่างเช่น เมื่ออายุใกล้วัย 40 อาจทำให้บางคนเริ่มเครียดและวิตกกังวลว่าตัวเองจะแก่ลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนหนุ่มสาว ดังนั้น จึงทำให้เกิดความเครียดได้ วิธีแก้คือให้คิดแง่ดีไว้ก่อนหรือเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เช่น ต้องทำให้ร่างกายแข็งแรง ต้องมีชีวิตอยู่ให้นานที่สุด ดังนั้น เราควรดูแลตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ทำร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า ยืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้พอดี และเหมาะกับร่างกายตัวเอง ดังนั้น การชะลอวัยต้องเริ่มจากความคิดตัวเองก่อน

     •    เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายและสมดุล
อันดับต่อไปคือการรับประทานอาหาร ถ้าไม่อยากให้ร่างกายแก่ ควรงดอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต ของหวาน ของทอด อาหารปิ้งย่าง อาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารที่ใส่สารปรุงรสต่างๆ
     เราควรรับประทานอาหารให้หลากหลายและมีความสมดุล เช่น รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ ผลไม้ โปรตีนที่มีคุณภาพ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ 
     ส่วนโปรตีนสำเร็จรูป เช่น เวย์โปรตีนนั้นมีจุดประสงค์ในการสร้างกล้ามเนื้อสำหรับบุคคลที่ต้องการกล้ามเนื้อใหญ่ มีสัดส่วนสวยงาม แต่เวย์โปรตีนมีโมเลกุลใหญ่ หากรับประทานในปริมาณมากอาจทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรด (Acidosis) ได้ อีกประการหนึ่งคือเมื่อเรารับประทานโปรตีนที่มีโมเลกุลใหญ่เข้าไปในปริมาณมาก อาจส่งผลให้มีการขับถ่ายทางไตและทำให้ไตทำงานหนักขึ้นจนทำให้ไตเสื่อมได้ นอกจากนั้นควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อร่างกายมนุษย์ 

•    การพักผ่อนที่มีคุณภาพ
     การนอนหลับพักผ่อนที่มีคุณภาพจะอยู่ที่วันละประมาณ 5-8 ชั่วโมง และต้องเป็นการนอนหลับสนิท ไม่มีการหยุดหายใจในระหว่างที่นอนหลับ ไม่มีการกรน 
     เมื่อตื่นขึ้นมาไม่ปวดหัว ไม่หงุดหงิด และไม่ง่วงนอนระหว่างวัน ไม่มีอาการปากแห้งคอแห้งและไม่มีการใช้ยาในการช่วยนอนหลับ
 

 
อาการ PMS คืออะไร แก้อย่างไรดี
     อาการ PMS (Premenstrual syndrome) เป็นอาการก่อนมีประจำเดือน เกิดจากช่วงก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิงจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สูง ทำให้มีอาการต่างๆ ดังนี้
     - เจ็บหน้าอก หน้าอกตึง บางคนเจ็บจนคิดว่าตัวเองมีก้อนอะไรอยู่ในเต้านม ซึ่งก็มีซีสในเต้านมประเภทหนึ่ง คือ ไฟโบรซีสติค (Fibrocystic Disease) ที่มีความเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในช่วงก่อนมีประจำเดือน 
     - ทำให้มีอาการหงุดหงิดควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไม่มีสมาธิ โกรธง่าย 
     - เกิดสิวบริเวณรอบปาก ริมฝีปาก คาง ช่วงก่อนมีประจำเดือน
     - เกิดความตึงบริเวณขา น่อง ปวดเมื่อย
     - ปัสสาวะบ่อย
     - มีอาการง่วงตลอดเวลา (อาจพบได้ในบางคน)
 

 
วิธีแก้ไข
     เราจะต้องทำความเข้าใจและสังเกตตัวเองให้ได้ว่า ช่วงก่อนมีประจำเดือน เรามีภาวะทางอารมณ์มากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดภาวะดังกล่าวมาก เราควรปรับตัวด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลายทางอารมณ์  เช่น โยคะ การบริหารอุ้งเชิงกราน ซิทอัพยกขาขึ้นลงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของระบบเลือดเลี้ยงมดลูก ทำจิตใจให้สบายโดยฝึกนั่งสมาธิและหลีกเลี่ยงภาวะความเครียด
     ถ้ามีอาการทางร่างกาย เช่น มีอาการบวม ควรลดอาหารรสเค็มจัดและรับประทานอาหารในกลุ่มที่มีโพลีฟีนอล เช่น เบอร์รี่ เพราะผลไม้รสเปรี้ยวจะมีวิตามินซีสูง จะช่วยปรับสมดุลความเครียดของเราได้ 
     สำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นซีสต์ในเต้านมและช่วงนั้นมีอาการเจ็บเต้านมมาก อาจต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป



เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก freepik
share