การรับสัมผัสสารพิษสะสมต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหนึ่งของการก่อโรคเรื้อรัง
เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การรับสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะเป็นในปริมาณไม่มาก แต่หากรับสัมผัสต่อเนื่องสะสมเป็นเวลายาวนานระยะหนึ่ง จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การก่อโรคเรื้อรัง และเนื่องจากการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสสิ่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และอาหาร ได้อย่างสมบูรณ์ แล้ว เราจะมีแนวทางอย่างไรในการลดโอกาสการก่อโรคจากสารพิษเหล่านี้
1. จำกัดการรับสัมผัสสารพิษ
หลักการเบื้องต้นทางพิษวิทยาในจัดการเรื่องสารพิษ อย่างแรกที่สุดคือ การควบคุมการรับสัมผัส เนื่องจากในสิ่งแวดล้อมและอาหาร มีการปนเปื้อนของสารพิษหลากหลายชนิด ในปริมาณแตกต่างกัน ถึงแม้เราจะเลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือเลือกแหล่งอาหารที่คิดว่าปลอดสารพิษอย่างหนึ่งแน่นอนแล้ว เช่น อาหารที่ปลอดยากำจัดศัตรูพืช แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ายังมีโอกาสได้รับสัมผัสสารพิษอื่นจากอาหาร เช่น สารหนู ตะกั่ว หรือ ปรอท ได้อยู่ดี
การควบคุมการรับสัมผัสเบื้องต้น จึงเริ่มจากการเลือกอาหาร หรือสิ่งแวดล้อมที่คาดว่ามีการปนเปื้อนน้อยที่สุดก่อน ร่วมกับหลักการทำ Variation หมายถึง หลึกเลี่ยงการรับสัมผัสกับอาหารหรือสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณการรับสัมผัสสารพิษชนิดใด ชนิดหนึ่งยาวนาน และสะสม
ในกรณีของ variation นี้ แหล่งรับสัมผัสที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ อาหาร เนื่องจาก มีความเชื่อที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับอาหารซึ่งอาจนำมาสู่การรับสัมผัสสะสมได้ง่าย โดยที่เมื่อเราเห็นว่าอาหารชนิดใด ดี มีประโยชน์ แล้วมักจะมีพฤติกรรม การบริโภคซ้ำ ๆ เช่น พ่อแม่ที่เชื่อว่า หากให้ลูกกินปลา ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง แล้วจะดีต่อพัฒนาการทางสมอง แล้วจัดการให้ลูกทานปลาทุกวัน แต่เนื่องจาก มีรายงานจากหลายแหล่ง ว่าในปัจจุบัน ปลาที่นำมาบริโภค มีการปนเปื้อนสารพิษกลุ่มโลหะหนัก เช่น ปรอทในปริมาณสูง ดังเช่น รายงานการศึกษาระดับของสารปรอทในเลือดจากสายรกของหญิงแรกคลอด โดยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่กินปลามากกว่าสามครั้งต่อสัปดาห์ มีระดับปรอทในเลือดสายรก มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่กินปลาน้อยกว่าสามครั้งต่อสัปดาห์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ปรอท เป็นสารพิษที่มีผลต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ซึงอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองในเด็กเล็กได้
2. ส่งเสริมกระบวนการจัดการสารพิษในร่างกาย
แนวทางถัดมาของการลดผลกระทบต่อการรับสัมผัสสารพิษเรื้อรัง ก็คือ การส่งเสริมกระบวนการจัดการสารพิษของร่างกาย ให้สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เมื่อรับสัมผัสสารพิษเข้าสู่ร่างกายแล้ว สารพิษที่ละลายในน้ำจะถูกกำจัดออกผ่านทางปัสสาวะ หรือเหงื่อ นั่นหมายความว่าเราต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมกระบวนขับสารพิษออก ดังนั้น หากเราไม่ดื่มน้ำ หรือไม่ออกกำลังกายเลย ช่องทางการขับออกของสารพิษที่ละลายในน้ำผ่านไต และต่อมเหงื่อ ก็จะเกิดได้น้อยและสารพิษก็ตกค้าง และส่งผลกระทบต่อร่างกายมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีสารพิษบางกลุ่มที่ละลายเฉพาะในไขมัน ซึ่งสารพิษกลุ่มนี้ต้องผ่านกลไกการเปลี่ยนแปลง และจัดการโดยกระบวนการในตับ ก่อนการขับออก กระบวนการจัดการนี้ เป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องใช้พลังงาน และสารอาหารหลากชนิด ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่า ภาวะโภชนาการ ทั้งสารอาหารหลัก สารอาหารรอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ และเพียงพอ ทั้งนี้ หากสามารถปฎิบัติตามหลักการทานอาหารให้หลากหลายดังที่กล่าวมาในข้อแรกแล้ว ก็จะมีโอกาสได้รับสารอาหารที่หลากหลาย และน่าจะเพียงพอต่อการสนับสนุนกระบวนการนี้ด้วย
กรณีที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงสารพิษในตับนี้ ในสารพิษบางตัวจะมีกระบวนการสุดท้ายนำสารพิษที่เปลี่ยนแปลงแล้ว มาจะมีการจับกับโปรตีน หรือ น้ำตาลบางตัวและทำการขับออกไปทางน้ำดี ดังนั้น จึงต้องมั่นใจว่ามีการขับถ่ายอุจจาระ เพื่อระบายกากอาหาร ออกไปอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง มีโอกานที่เชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารบางชนิด จะทำการแยกสารพิษที่ถูกจัดการแล้ว ออกมา และเกิดการดูดซึมกลับเข้าไปในร่างการใหม่
การมีภาวะโภชนการ และ สารอาหารที่หลากหลาย และ พอเพียงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับกระบวนการจัดการสารพิษในขั้นตอนนี้ สารอาหารกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ anti-oxidant ที่พบได้มากในพืชผักหลากสีสัน เป็นสารอาหารอีกชนิดหนึ่งที่เป็นประโยชน์ เนื่องจากช่วยในการจัดการกับสารพิษที่อยู่ในระหว่างกระบวนการของตับ และช่วยป้องกันความเสียหายจากสารพิษเหล่านี้ด้วย
โดยสรุปแล้ว กลวิธีในการลดผลกระทบต่อการรับสัมผัสสารพิษในชีวิตประจำวัน จะประกอบด้วยกระบวนการลดปริมารการรับสัมผัส และ การสนับสนุนกระบวนการจัดการสารพิษ ผ่านสารอาหารหลัก สารอาหารรอง สารต้านอนุมูลอิสระ และ การส่งเสริมการขับสารพิษออกผ่านช่องทางต่างๆของร่างกาย
เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
------------------------------------------------
https://www.ifm.org/find-a-practitioner/