การที่เราทบทวนตัวเองดูว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้าง ขอให้คิดว่าสาเหตุไม่ใช่แค่เรื่องการกินเพียงอย่างเดียว เช่น การที่เราเป็นมะเร็ง ไม่ใช่แค่เรากินผิดอย่างไร แต่มันเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตผิด
การดูแลสุขภาพในเรื่องของการกิน เช่น การภาวนา การพิจารณาอาหาร พระใช้สติรู้ตัวก่อนฉันด้วยการพิจารณาว่าอะไรอยู่ในจาน ซึ่งสิ่งนี้เชื่อมโยงกับความเมตตา นั่นคือ เรากินอาหารทุกอย่าง กินสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง จึงควรกินอย่างรู้คุณค่า
การที่พระท่านไม่พูดคุยกันระหว่างที่ฉัน เพราะว่า การคุยกันคือการส่งจิตออกนอก ในบริบทสังคมทั่วไปคิดกลับกัน เราพูดคุยกันบนโต๊ะอาหารเพราะเราคิดว่าการกินคือการมีปฏิสัมพันธ์กัน พระท่านฉันอาหารคือเวลาที่พิจารณาธรรมผ่านการกิน
วิธีง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้ คือ ก่อนกินมองจานอาหาร ว่ามีสิ่งใดบ้าง พระในสมัยพุทธกาลจะฉันปนกันหมด ทั้งของคาวของหวานเพื่อไม่ให้เสพติดรสชาติ
เราต้องคิดว่าการกิน คือกินเพื่อบำรุงให้พลังงานและประโยชน์กับร่างกาย ซึ่งไม่เหมือนการกินอาหารเพื่อความเอร็ดอร่อย การพิจารณาอาหารควรทำพร้อมกับการเจริญเมตตาไปด้วย เป็นการอุทิศให้สรรพสัตว์ที่อยู่ในจานและแสดงถึงการรู้คุณค่าของอาหารที่เรากิน
อีกนัยยะหนึ่ง สิ่งที่เรากินเข้าไป ไม่ใช่อาหารสักทีเดียวในทางจิตวิญญาณ แต่คือ พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณ ผู้คนสมัยก่อนเลยเรียกข้าวว่า พระแม่โพสพ เรียกน้ำว่า พระแม่คงคา พวกเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เรากินเข้าไปถือว่าเป็นเลือดเนื้อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์
การกินแบบพระจึงเป็นเหมือนพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากการกินของคนทั่วไป เพราะวัฒนธรรมการกินของพระเป็นการกินเพื่อภาวนา ส่วนวัฒนธรรมการกินของโลก คือกินเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ แต่ทั้งนี้ เนื้อแท้ล้วนแต่เหมือนกัน คือกินเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรง
หากการเดินทางข้างในผูกกับความตายแล้ว เราควรพิจารณาอย่างไร หรือควรจะวางใจอย่างไร
เคยมีคนถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมมนุษย์ถึงไม่มีการเดินทางข้างในจิตใจ ไม่ชำเลืองมองจิตใจตนเอง ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก พระพุทธเจ้าตอบว่า เพราะมนุษย์ไม่ได้คิดถึงความธรรมดาของชีวิต ทั้งยังส่งจิตออกไปในทางของความสำเร็จมากเกินไป ถามต่อไปว่า สิ่งธรรมดาของชีวิตคืออะไร ท่านตอบว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย
แท้จริงแล้ว ชีวิตคนเริ่มต้นด้วยความตาย ถ้าเรารู้ตัวอยู่เสมอว่า วันหนึ่งต้องตาย การรู้ตัวแบบนี้จะมีความเมตตาเอง ไม่มีการแก่งแย่งกับใคร หากเราเปิดใจแบบนี้ เราจะเป็นมิตรกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ต่างกับในปัจจุบันที่คนเราพยายามปกปิดเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้ความตายและโรคภัยไข้เจ็บกลายเป็นเรื่องน่ากลัว
ในมุมมองของผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ความแก่ ความเจ็บ ความตายเปรียบเสมือนของขวัญที่ทำให้การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นสมบูรณ์
ดังนั้น ความเจ็บป่วยจึงเป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับคนที่ไม่เตรียมตัว ต่างจากคนที่เตรียมตัวอย่างดีแล้วมองเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ในทางกลับกัน หากเราแบ่งแยกชีวิตกับความตาย จะทำให้เราใช้ชีวิตผิดตั้งแต่ต้น
ในทางโลกเราไม่รู้การทำงานของจิตว่า หากเรากลัวสิ่งใดแล้ว สิ่งนั้นมักมีพลังเสมอ หากเรากลัวการเป็นมะเร็ง เท่ากับเรากำลังเรียกมะเร็ง หากไม่เข้าใจในการทำงานของจิตใจแล้ว ร่างกายก็อาจแย่ไปด้วย เสมือนว่า การกลัวสิ่งใดก็ตาม อาจเป็นการร้องเรียกสิ่งนั้นเข้ามาในชีวิตเราเช่นกัน
ในทางการภาวนา หากใครเป็นมะเร็งแต่เข้าใจเรื่องความตาย รู้จักวางจิตก่อนที่จะตาย จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าความตายเป็นมิตร อย่างน้อยสิ่งนี้จะส่งผลให้เขามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น พอเขาวางจิตก็จะทำให้เขารู้ว่า ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ
ในทางกลับกัน คนทั่วไปกีดกันความตายออกไปจากการรับรู้ ทำให้การใช้ชีวิตผิดไปหมด การกินไม่ได้กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ แต่กินเพื่อให้อร่อย หรือเพื่อบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น เรื่องปัจจัยสี่อาจไม่สำคัญในการดำรงชีวิตอีกต่อไป แต่กลายเป็นเรื่องรสนิยม เกียรติภูมิหรือหน้าตาในสังคมแทน
บทสรุปของการเดินทางข้างในคือ เราต้องคิดตั้งแต่ต้นว่า เราเกิดมาแค่ชั่วคราว พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า
“เมื่อคนรู้ว่า ชีวิตคืออะไร ธรรมะจะหลั่งไหลเข้ามาเอง”
ถ้าเรารู้ด้วยฐานของเหตุและผลว่า วันหนึ่งเราต้องตาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของอารมณ์ สัญชาตญาณ ดังนั้น การพิจารณาความตายจำเป็นต้องมีการเจริญมรณานุสติหรือการระลึกถึงความตายด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้การเดินทางข้างในเป็นสิ่งที่ผูกไว้กับเรื่องความตาย
เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash,freepik