เมื่อพูดถึงความเสี่ยงของการรับสัมผัสสารพิษในชีวิตประจำวัน กับความเสี่ยงในการก่อโรคเรื้อรังนั้น จะต้องพิจารณาบทบาทของสารพิษนั้นแตกต่างไปจาก การรับสารพิษชนิดใดชนิดหนึ่งในขนาดสูง และรวดเร็วจนก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเฉียบพลัน ตามตัวแบบการศึกษาด้านพิษวิทยาแบบปกติ ในวิถีชีวิตปัจจุบันความเสี่ยงของการรับสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อม และอาหาร เป็นไปในลักษณะที่ได้รับสัมผัสในขนาดต่ำ พร้อมกันหลายชนิด และสะสม ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนา ตัวแบบการพิจารณาความเสี่ยงในกรณีนี้ จึงไม่สามารถจะพิจารณาโดยใช้ตัวแบบทางพิษวิทยาเดิม ที่ให้ความสำคัญหลัก กับความสัมพันธ์ของขนาดการรับสัมผัล และผลการตอบสนอง หรือ dose response relationship
ในขณะที่ปัจจัยภายนอกในการรับสัมผัสสารพิษหลายชนิดพร้อมกัน ในขนาดต่ำ และสะสมต่อเนื่อง เป็นเหตุส่งเสริมที่สำคัญในการก่อโรคเรื้อรัง แต่เหตุที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากการรับสัมผัสเช่นนี้ จำกัดเพียงเฉพาะบางกลุ่มคนเท่านั้น ปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณาร่วมไปด้วย ก็คือปัจจัยภายในเฉพาะบุคคล เช่น เด็กเล็ก จะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการรับสัมผัสสารพิษในขนาดต่ำมากกว่าผู้ใหญ่ แม้จะได้รับสัมผัสแบบเดียวกัน
สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมสุขภาพ ความถี่ในการรับสัมผัส เช่น คนที่ชื่นชอบอาหารชนิดหนึ่ง ชนิดใดเป็นพิเศษ และ มีการบริโภคอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ หรือ การมีที่พักอาศัยในย่านที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และ มีการปล่อยสารพิษบางอย่างออกมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นตัวกำหนดให้ผลกระทบต่อสุขภาพของแต่ละคน แตกต่างกันออกไป
ความสามารถในการจัดการ และกำจัดสารพิษของแต่ละบุคคล แปรผันไปตามพันธุกรรม และสภาพโภชนาการ และ ภาวะสุขภาพของแต่ละคน นอกจากนี้ ข้อมูลที่ออกมาในระยะหลัง ก็ยืนยันว่าบทบาทของแบคทีเรีย และ สิ่งมีชีวิตในร่างกายของเรา หรือ Microbiome ก็น่าจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความต้านทานของแต่ละบุคคลต่อการรับสัมผัสสารพิษเหล่านี้
ในบรรดาโรคเรื้อรังทั้งหลาย รายงานส่วนใหญ่ ยอมรับว่าการรับสัมผัสสารพิษมีบทบาทในกระบวนการก่อโรคได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง หรือ โรคภูมิต้านทานต่าง ๆ แต่ควรต้องพิจารณาว่า นี่ไม่ไช่เหตุเพียงอย่างเดียวของโรคเหล่านี้ จนวิตกจริตถึงขนาดกับไปทำการล้างพิษขนานใหญ่ โดยไม่พิจารณาวิเคราะห์ความเสี่ยงเฉพาะบุคคลตนว่า ใครมีความเสี่ยงมากน้อย เพียงใด และความเสี่ยงนั้นเป็นได้จากการรับสัมผัสสารพิษชนิดไหน จากแหล่งใด ตามตัวแบบที่ควรจะเป็น ของการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากสารพิษ หรือ risk assessment model
โดยสรุป หากพิจารณาปัจจัยที่สามารถจะปรับเปลี่ยนได้ อันอาจช่วยลดผลกระทบต่อการรับสัมผัสสารพิษเรื้อรังนั้น การลดโอกาสการรับสัมผัส โดยกลยุทธของการทำ Variation ในอาหาร และ สิ่งแวดล้อม ดังที่เคยกล่าวมาก่อนนี้แล้ว ร่วมกับการดูแลภาวะโภชนาการส่วนตน เพื่อส่งเสริมกระบวนการจัดการ และ ขับออกของสารพิษ ดูจะมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ มากไปกว่ากระบวนการล้างพิษตามกระแสนิยม
เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
------------------------------------------------
https://www.ifm.org/find-a-practitioner/
Bjørklund G, Tippairote T, Rahaman MS, Aaseth J: Developmental toxicity of arsenic: a drift from the classical dose–response relationship. Archives of Toxicology 2019.