ธรรมชาติบำบัดเยียวยาโรคเครียดจากการข่าวร้าย

Category: Natural Medicine | February 14, 2020
โดย ดร.ณิชมน สมันตรัฐ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ด้านเนเชอโรพาธิค (naturaopathic) คนแรกของประเทศไทย จบการระดับปริญญาเอกและมีประสบการณ์การรักษาจากมหาวิทยาลับธรรมชาติบำบัดระดับโลก Bastyr University ประเทศสหรัฐอเมริกา
     ธรรมชาติบำบัดช่วยเยียวยาโรคเครียดจากข่าวร้ายต่างๆ ได้อย่างไร 
     คนแต่ละคนมีภาพจำและความแข็งแรงของจิตใจไม่เท่ากัน คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงอาจส่งผลให้ป่วยง่าย ส่วนผู้ที่จิตใจไม่แข็งแรงก็อาจโดนกระทบกระเทือนทางจิตใจได้ง่ายเช่นกัน หากต้องประสบกับเหตุการณ์หรือข่าวร้ายๆ 
ถ้าเป็นคนที่เป็นโรควิตกจริตหรือมีอาการแพนิก (panic) อยู่แล้ว ยิ่งง่ายต่อการคิดวิตกกังวลไปล่วงหน้า เช่น หากได้รับฟังข่าวคนยิงกันหรือจี้ปล้นกัน คนเหล่านี้จะคิดว่า หากเป็นตัวเองจะทำอย่างไร จึงทำให้เขาไม่กล้าออกไปไหน เนื่องจากกลัวจะเกิดขึ้นกับตนเองหรือเกิดกับคนรัก สิ่งเหล่านี้คืออาการวิตกจริต 
กรณีที่มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น ก่อนอื่นเลยเราต้องใช้วิธี Mindfulness  หรือการเจริญสติ ซึ่งทำให้เรามีสติรู้ตัวและอยู่กับปัจจุบันนั่นเอง วิธีนี้เปรียบเสมือนการออกกำลังกายสำหรับจิตใจ หากการไปยิมเป็นการออกกำลังกายสำหรับร่างกายแล้ว Mindfulness คือ การออกกำลังกายเพื่อทำให้เรามีจิตใจที่แข็งแรงขึ้น ซึ่งมีวิธีฝึกหลายวิธี และที่เรารู้จักกันดีนั่นคือ การนั่งสมาธิ
     การนั่งสมาธิมีหลายวิธีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งนิ่งๆ เฉยๆ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ไปจนถึงการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งวิธีต่างๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่จะปฏิบัติ เหมือนการออกกำลังกาย เช่น บางคนชอบคาร์ดิโอ บางคนชอบยกเวท เป็นต้น
     เช่นเดียวกัน การนั่งสมาธิ บางคนชอบนั่งแบบเงียบๆ บางคนชอบกำหนดลมหายใจ บางคนชอบท่องบทสวดมนต์ บางคนไม่อิงกับศาสนาแต่ชอบนั่งสมาธิ หรืออาจเลือกวิธีการฝึกสมาธิ แบบมโนภาพ (Guided meditation)  ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจของคนมือใหม่ที่เพิ่งหันมาสนใจการนั่งสมาธิ โดยจะมีเสียงพูดนำ ให้เราจิตนาการตามไป 
     ขณะทำสมาธิ  เช่น คำบรรยายว่า ตอนนี้เรากำลังนั่งอยู่ที่ชายหาด ได้ยินเสียงคลื่นมากระทบเบาๆ มีลมพัดมาแตะตรงผิวหน้า เราจึงสามารถจินตนาการตามและทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นได้  

     วิธีการสร้างจิตใจแข็งแรงสามารถทำได้โดย 
     1. หากเรามีความวิตกจริตสูงหรือมีความเครียด brainwave หรือคลื่นสมองจะเปลี่ยน ซึ่งแตกต่างจากคลื่นสมองของคนที่นั่งสมาธิ ที่จะปล่อยสารสื่อสมองที่ทำให้เราสงบ ทำให้สามารถควบคุมร่างกายและสติได้ดี ในทางกลับกันหากเราควบคุมตรงนี้ไม่ได้ สารสื่อสมองที่ออกมาจะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นตื่นตัวกลัว และไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ 
     2. หากเราควบคุมความเครียดที่เข้ามาไม่ได้ อย่างน้อยหากเข้ามาแล้วเราต้องควบคุมให้มันออกไปได้ วิธีนี้เรียกว่า stress management ซึ่งไม่ใช่การกีดกันความเครียดเข้าหาตัวเลย แต่เป็นวิธีการจัดการ หากมีความเครียดเกิดขึ้น เราสามารทำได้อย่างง่าย คือ ควรหากิจกรรมคลายเครียดในแต่ละวันทำ      
     เนื่องจากในทุกๆ วันนั้น เราจะมีช่วงเวลาพักผ่อนเป็นเวลา ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง บางคนอาจเป็นช่วงเช้า ทำให้ตัวเองสงบนิ่ง อยู่กับตัวเองให้ความสุข ไม่คิดเรื่องงาน ไม่คิดเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น ทำอะไรที่สนองความสุขของตัวเองล้วนๆ บางคนอาจมีเวลาของตัวเองช่วงเย็น หลังจากกลับมาจากทำงาน กลับมาบ้านไม่ทำอะไรแล้ว จะอาบน้ำ นอนแช่อ่าง มาส์กหน้า ฟังเพลงผ่อนคลาย แค่มีช่วงเวลาในชีวิตประจำวันเหล่านี้เพียงพอ ก็ทำให้ตัวเราสงบขึ้นได้แล้ว
     3. บางคนอาจมีกิจกรรมช่วยเพื่อทำให้มีความสุข เช่น ไปออกกำลังกาย วิ่งในสวนสาธารณะ พบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง กินข้าวนอกบ้าน ทุกอย่างที่ทำไม่ใช่การเสียเวลาหรือเรื่องไร้สาระ เพียงแต่เราต้องหาให้เจอว่าสิ่งที่ช่วยให้เราผ่อนคลายและมีความสุขไม่รู้สึกตึงเครียดในระหว่างที่ทำคืออะไร 
     สำหรับบางคนอาจจะการใช้สื่อสารโซเชียลมีเดียต่างๆ ช่วยในการคลายเครียด ซึ่งวิธีนี้ควรอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะด้วยเช่นกัน  บางคนอาจชอบดูคลิปตลก ผ่อนคลายสมอง ซึ่งผลก็อาจออกมาในทางที่ดีได้  แต่หากเราใช้โซเชียลมีเดียที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือเสพสิ่งที่ทำให้จิตใจเราฟุ้งซ่าน วิตกกังวล สิ่งนี้ไม่ใช่วิธีการผ่อนคลายอย่างแน่นอน 
     จุดสำคัญคือ กิจกรรมอะไรก็ตามที่ทำแล้วมีความสุข และต้องทำสม่ำเสมอ อาจจะทำน้อยๆ แต่สามารถทำได้บ่อย เช่น อ่านหนังสือ นั่งเล่นเกมส์วันละหนึ่งชั่วโมง ทั้งหมดนี้ควรจะเป็นสิ่งที่ทำแล้วช่วยให้เราผ่อนคลาย และไม่รบกวนการนอนหลับด้วย เพียงเท่านี้ทำให้เรามีความสุขแล้ว


เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
 
share