ห้ากลุ่มสารพิษ ที่รับสัมผัสได้บ่อยและมีผลต่อสุขภาพในชีวิตประจำวัน และควรต้องหลีกเลี่ยง

Category: Optimal Health | December 02, 2019
นายแพทย์ต่อศักดิ์ ทิพย์ไพโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Functional Medicine คนแรกของประเทศไทย จากสถาบัน The Institute for Functional Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา
     การรับสัมผัสสารพิษ ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และปนเปื้อนอยู่ได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารที่เราบริโภคอยู่เป็นประจำ โดยอาจเป็นเหตุสำคัญในการก่อตัวของโรคเรื้อรัง ตัวอย่างเช่น การบริโภคข้าว ซึ่งมีรายงานว่า ข้าวมีโอกาสปนเปื้อนด้วยสารหนู หรือ arsenic ได้สูง หากปลูกในพื้นที่ ซึ่งมีการปนเปื้อนของสารหนูในแหล่งน้ำ เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งหากมีการบริโภคข้าวจากแหล่งผลิตดังกล่าว เป็นประจำ อาจจะก่ออันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งมีความจำกัดต่อการรับสัมผัสสารพิษได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ 
     เนื่องจากมีชนิดและปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และ อาหารของมนุษย์ จำนวนมากมายหลากหลาย การจะเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากสารพิษที่พบได้บ่อย และมีโอกาสจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ คงจะต้องอ้างอิงข้อมูลจาก องค์กรในสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า Agency for Toxic Substances and Disease Registry (ATSDR) มีการกระบวนการจัดรายงานลำดับความสำคัญของสารพิษต่างๆ หรือ Priority list of hazardous substances ตามลำดับโอกาสหรือความบ่อยที่มนุษย์จะมีโอกาสรับสัมผัสได้ ในบริเวณที่มีการสำรวจทั่วสหรัฐอเมริกา ร่วมกับโอกาสของการที่จะก่อให้เกิดพิษ หรืออันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งได้มีการสำรวจ และปรับปรุงรายงานให้ทันสมัยอยู่เป็นระยะ ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานแบบนี้ในประเทศไทย
     รายงานล่าสุดในปี 2017 ระบุว่าการรับสัมผัสโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น สารหนู ตะกั่ว ปรอท และ แคดเมี่ยม จะได้รับการจัดลำดับอยู่ในสิบอันดับแรกเสมอ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารหนู หรือ arsenic ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่หนึ่งในทุกช่วงของรายงาน ส่วนที่เหลือเป็นสารพิษในกลุ่ม POLYCYCLIC AROMATIC HYDROCARBONS (PAH) และ กลุ่มยากำจัดศัตรูพืช เช่น Organochlorine หรือ Organophosphates ที่อาจยังตกค้างอยู่ในธรรมชาติอยู่ได้นาน แม้จะมีข้อกำหนดให้เลิกใช้ไปในหลายที่แล้ว และท้ายที่สุดคือสารพิษกลุ่มเบนซีน ซึ่งมักพบในวัสดุที่ทำมาจากปิโตรเลียม ใยพลาสติกและในเครื่องดื่มบางชนิด
     ในส่วนของสารหนู ซึ่งได้รับการจัดลำดับเป็นที่หนึ่งอยู่ตลอดมานั้น จะพบปนเปื้อนได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งทำให้พืชที่ปลูกในน้ำเช่น ข้าว มีโอกาสการปนเปื้อนได้สูง โดยที่ข้าวเป็นแหล่งอาหารหลักของชาวเอเชีย กลุ่มคนที่บริโภคข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าว จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งติดต่อกันเป็นประจำ จะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการรับสัมผัสสะสม และมีมีผลต่อสุขภาพได้ ดังที่พบเห็นในคลีนิกเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง และพบค่าการตรวจความเสียหายจากอนุมูลอิสระ หรือ oxidative damage markers สูง เมื่อทำการสอบสวนโรค ก็เคยมีที่พบว่า เกิดจากการที่บริโภคข้าวจากแหล่งผลิตที่มีการปนเปื้อนเป็นประจำ ด้วยความเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย และซื้อมาในลักษณะเป็นกระสอบเพื่อบริโภคอย่างต่อเนื่อง  
     โลหะเป็นพิษกลุ่มตะกั่วนั้น เป็นสารพิษอีกชนิด ที่พบได้ในประเทศไทยค่อนข้างมาก และมีผลกระทบค่อนข้างสูงต่อเด็กพัฒนาการของเด็กเล็ก ในปัจจุบันระดับค่าตะกั่วในเลือด ที่ยอมรับได้ของประเทศไทยลดลงมาที่ 10 มก./ดล. แต่ทั้งนี้ ระดับอ้างอิงในประเทศสหรัฐปัจจุบัน คือ 5 มก./ดล.เท่านั้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายชิ้น ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ระดับค่าตะกั่วในเลือด เพียงแค่ 2-3 มก./ดล. ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านเชาว์ปัญญา และ ระบบประสาทใน เด็กเล็กได้แล้ว แนวโน้มในอนาคตก็กำลังมีการถกเถียงกันมากว่าไม่ควรจะมี แม้แต่ค่าระดับของสารตะกั่วในเลือดที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเลยด้วยซ้ำ แม้ว่าในประเทศไทยจะใช้น้ำมันปลอดสารตะกั่วมานานหลายสิบปีแล้ว การป้องกันการรับสัมผัสสารตะกั่วจากแหล่งอื่นในเด็กนั้น สามารถป้องกันได้จากพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ลดพฤติกรมมการนำสิ่งของเข้าปากในเด็กเล็ก โดยเฉพาะในเด็กที่เล่นประจำกับพื้นดิน ฝุ่น เศษวัสดุ สีทาบ้าน หรือ ของเล่น จานชาม ที่มีสีสันสดใส ต่างๆ
     สารปรอท และ แคดเมี่ยม เป็นอีกโลหะเป็นพิษที่พบได้บ่อยเช่นกัน การหลีกเลี่ยงการรับสัมผัสทำได้ด้วยการควบคุมสิ่งแวดล้อม จำกัด หรือ หมุนเวียน พฤติกรรมการทานปลา หรือ โปรตีนจากแหล่งน้ำที่อาจปนเปื้อนสารปรอทได้ โดยละเว้นการทานอาหารซ้ำชนิด เป็นประจำ นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงกันพอสมควร ในโอการที่จะได้รับสารปรอทเรื้อรัง จากวัสดุอุดฟันที่เป็นโลหะผสมสีเงิน หรือ อมัลกัม รวมถึง โอกาสการับสัมผัสโลหะหนักกลุ่มแคดเมี่ยม ในเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่สูบบุหรี่  ซึ่งอาจมีผลต่อพัฒนาการของเด็กเล็กได้
     ส่วนสารประกอบ ของ POLYCYCLIC AROMATIC HYDROCARBONS  หรือ PAH ซึ่งสารพิษกลุ่มนี้จะพบอยู่ใน อาหารที่ผ่านความร้อน เช่นของที่ต้องปิ้งย่าง และที่มีลักษณะไหม้เกรียมเป็นสีดำ ซึ่งมีฤทธิเป็นสารก่อมะเร็งด้วย การป้องกันทำได้เพียงแค่มีความเข้าใจ และปรับพฤติกรรมในการปรุงอาหาร และ เลือกรับประทานอาหาร ทีไม่มีลักษณะดังกล่าว หรือ ไม่ทานอาหารประเภทนี้เป็นประจำ หรือ อาจลดผลกระทบโดยทานร่วมกับผักหลากสี ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการรับสัมผัส ก็อาจพอจะช่วยได้ระดับหนึ่ง 
     สารพิษอีกกลุ่มที่ยังอาจพบได้บ่อย และมีผลต่อสุขภาพ คือ สารพิษกลุ่มยาฆ่าแมลง ซึ่ง สารพิษเหล่านี้สามารถตกค้างอยู่ในธรรมชาติยาวนานหลายร้อยปี และยังสามารถปนเปื้อนในอาหาร ที่เราบริโภค พฤติกรรมการเลือกซื้อวัตถุดิบ การตระเตรียมในการปรุงอาหาร รวมถึงการหลีกเลี่ยงการทานอาหารชนิดใด ชนิดหนึ่ง ซ้ำซาก ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็น่าจะพอเพียงในการควบคุมการรับสัมผัสสารพิษกลุ่มนี้
     โดยรวมแล้วถึงแม้จะใช้ความพยายามแค่ไหน มนุษย์ก็ไม่สามารถจะใช้ชีวิตอยูได้โดยปราศจากการได้รับสัมผัสสารพิษชนิดใด ชนิดหนึ่งจากธรรมชาติ อาหาร และ สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการลดโอกาสการรับสัมผัส การมุ่งส่งเสริมกระบวนการจัดการ และ กระบวนการขับออกของสารพิษ ดังที่กล่าวมาในตอนก่อนหน้านี้ และ บางส่วนในตอนนี้ จะเป็นกลยุทธสำคัญที่ทำให้เรายังคงมีสุขภาพดี และ ไม่ได้รับผลกระทบจากสารพิษต่างๆนี้ รวมไปถึงชลอโอกาสในการเกิดโรคเรื้อรังในอนาคต


เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
------------------------------------------------
https://www.ifm.org/find-a-practitioner/
https://www.atsdr.cdc.gov/SPL/
share