Did You Know? ต่างคน ต่างวิธีรักษา

Category: Optimal Health | November 18, 2019
นายแพทย์ต่อศักดิ์ ทิพย์ไพโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Functional Medicine คนแรกของประเทศไทย จากสถาบัน The Institute for Functional Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคเรื้อรังนั้นแตกต่างจากอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันตรงที่มีกระบวนการนำสู่โรค ซึ่งจะเริ่มก่อตัวนาน หลายสิบปีก่อน จะมีอาการแสดงชัดเจน และ ปัจจัยก่อโรคเรื้อรัง ก็มักจะเกิดจากปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกัน เช่น พฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคล สภาพโภชนาการ ประกอบกับลักษณะพันธุกรรมเฉพาะตัว และสภาพสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อกระบวนการก่อโรค ในขณะที่การเจ็บป่วยเฉียบพลันนั้น อาจเกิดจากเหตุเฉียบพลัน เช่น อุบัติเหตุ กระดูกหัก ติดเชื้อเฉียบพลัน หรือ อาจเป็นอาการแสดงออกเฉียบพลันของโรคเรื้อรัง เช่น การอุดตันของเส้นเลือดหัวใจ หรือเส้นเลือดสมอง



      การดูและผู้ป่วยโรคเฉียบพลัน จะมุ่งเน้นการดูแลเฉพาะหน้า เพื่อหยุดยั้งผลกระทบ และการลุกลามไปยังส่วนอื่น อย่างไรก็ตาม หากนำวิธีการดูแลแบบนี้มาใช้ในการดูแลโรคเรื้อรัง ก็จะทำให้หลงไปที่ผลสำเร็จของการควบคุมอาการ เช่น สามารถควบคุมความดันโลหิต ได้แล้วด้วยยาชนิดต่างๆ แต่อาจทำให้ละเลยการจัดการกับปัจจัยก่อโรคเรื้อรังต่างๆ ทำให้เสียโอกาสในการจัดการต้นทางของการเกิดโรค และเมื่อเวลาผ่านไป จะเกิดการลุกลามของโรค ทำให้ต้องใช้ยามากขนาด มากชนิดขึ้นเรื่อยๆเพื่อควบคุมอาการ โดยไม่มีจุดสิ้นสุด
      อย่างไรก็ตามการที่จะวิเคราะห์รูปแบบของการก่อโรคเรื้อรังในแต่ละบุคคลนั้น จำเป็นต้องต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาก ทั้งข้อมูลส่วนตัว ครอบครัว สิ่งแวดล้อม สิ่งตรวจพบทางห้องปฎิบัติการ และข้อมูลพันธุกรรม เนื่องจากเหตุปัจจัยก่อโรคนั้น เป็นไปได้หลายอย่าง และ ถึงแม้จะเป็นโรคชื่อเดียวกัน เหตุก่อโรคในแต่ละคน ก็มักจะมีลักษณะเฉพาะตน ต่างกับผู้อื่น ซึ่งทำให้คำแนะนำในการดูแลโรคเรื้อรังนั้น จะมีลักษณะเฉพาะบุคคล ต่างไปจากแนวทางเวชปฎิบัตเพื่อควบคุมโรคเฉียบพลัน ที่สามารถใช้แนวปฎิบัติที่ได้รับการยอมรับหนึ่งอย่าง ในการดูแลผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการแบบเดียวกัน

เหตุใดสุขภาพแต่ละคนจึงแตกต่างกัน
      คนในครอบครัวเดียวกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกัน ทานอาหารแบบเดียวกัน ทำไมจึงมีแค่บางคนที่มีปัญหาสุขภาพ คำตอบในเบื้องต้นก็คือ ปัจจัยด้านพันธุกรรม ซึ่งถึงแม้จะเป็นครอบครัวเดียวกัน ก็ไม่ได้มีพันธุกรรมเหมือนกันทุกอย่าง หรือแม้จะเป็นฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกันที่มีพันธุกรรมเหมือนกัน ก็ยังมีปัจจัยเหนือพันธุกรรม (epigenetic imprinting) ที่มีผลต่อการแสดงออกของพันธุกรรม ที่ต่างกันไปได้ 
      ข้อยกเว้น ก็อาจจะเป็นในกรณีของโรคพันธุกรรมชนิดที่เป็นแบบ monogenic disease คือหากมีความผิดปกติของพันธุกรรมหนึ่งที่ และ ทำให้เกิดโรคชนิดหนึ่งได้เลย ซึ่งพบได้ในโรคทางพันธุกรรมต่างๆ จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านพันธุกรรมของโรคเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากยีนชนิดเดียว โดยทั่วไปเราจะพบว่าโรคเรื้อรังสัมพันธ์กับปัจจัยด้านพันธุกรรมหลายจุด หรือที่เรียกว่า polygenic conditions ซึ่งความผิดปกติของยีนในแต่ละจุด ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการก่อโรคมาระดับหนึ่ง และเมื่อรวมกับความผิดปกติของพันธุกรรมหลายจุดเข้า ก็ทำให้มีโอกาสก่อให้เกิดโรคได้มากกว่าคนปกติ 
      ความบกพร่องทางพันธุกรรม หนึ่ง หรือ หลายจุด ประกอบกับ สภาพแวดล้อม การใช้ชีวิต พฤติกรรมอาหาร และ สภาพโภชนาการซึ่งมีผลต่อการแสดงออกทางพันธุกรรม ผ่านกระบวนการต่างๆ จะเป็นสิ่งกำหนดการตอบสนองของร่างกาย และเป็นสิ่งกำหนดว่าใคร คนไหน จะแข็งแรงหรือเจ็บป่วย ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยด้วยโรครัง หากมีข้อมูลทางพฤติกรรม ก็จะเป็นประโยชน์ ถึงแม้จะไม่สามารถปรับแก้อย่างใดได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่มองหาปัจจัยสุขภาพที่สามารถจัดการได้ (modifiable lifestyle factors) สิ่งมีผลสุขภาพ ผ่านปัจจัยเหนือพันธุกรรมต่างๆ เพื่อช่วยในการจัดการปัจจัยก่อโรคเรื้อรังเฉพาะบุคคล โดยต้องจัดการทุกอย่างไปพร้อมกันเป็นกระบวนการ ไม่ได้มุ่งเฉพาะปัจจัยอย่างใด อย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น  มีผู้ป่วยบางคนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่พฤติกรรมอาหาร หรือ การพักผ่อน ไม่ดี ก็ไม่อาจทำให้ประสบความสำเร็จในการดูแลสุขภาพได้  

      Function medicine คืออะไร
      Functional Medicine หรือสมุทัยเวชศาสตร์ ถือกำเนิดครั้งแรกจากสถาบัน IFM หรือ The Institute for Functional Medicine ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Jeffrey Bland, PhD โดยแนวคิดหลักก็คือการนำเสนอ รูปแบบ และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังและซับซ้อน โดยจัดเรียงข้อมูลที่ได้รับออกเป็น Timeline และ Matrix เพื่อให้เห็นรูปแบบของการก่อโรค ในลักษณะของเหตุนำ ปัจจัยกระตุ้น และ ปัจจัยสนับสนุนการก่อโรค ( antecedents, triggers, and mediators)
      ดังนั้น Functional Medicine จึงเป็นเสมือนระบบปฎิบัติการของการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่การทำให้เห็นรูปแบบการก่อโรคเฉพาะบุคคล สามารถทำการยืนยันด้วยสิ่งตรวจพบทางห้องปฎิบัติการ และนำไปสู่การกำหนดแนวทางการดูแล และฟื้นฟู ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ครอบคลุม ชนิด และ รูปแบบ อาหาร ภาวะโภชนาการ การออกกำลังการ การจัดการอารมณ์ และ การพักผ่อนนอนหลับ ที่เหมาะสมเฉพาะกับบุคคลนั้น (personalized lifestyle management) 
      จะเห็นได้ว่ากระบวนการของ Functional Medicine ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากให้ความสำคัญกับ ความแตกต่างเฉพาะบุคคล หรือที่เรียกว่า biochemical individuality  และข้อเสนอในด้านต่างๆ จะเป็นคำแนะนำทีเฉพาะบุคคล ต่างการคำแนะนำด้านสุขภาพทั่วไป เช่น การทานอาหารรูปแบบหนึ่ง อาจจะเหมาะกับคนส่วนใหญ่ แต่อาจจะไม่เหมาะสมในเฉพาะบางบุคคล
      โดยรวมแล้วรูปแบบข้อเสนอโดยการดูแลในแนวทางของ function medicine จะมีลักษณะที่สามารถคาดการสิ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต หรือ predictive และ จะสามารถป้องกันยับยั้งสิ่งที่จะเกิดได้ หรือ preventive โดยทั้งนี้การที่จะประสบผลสำเร็จในการรักษา จะต้องอาศัยทัศนคติ ที่ proactive และ ความร่วมมือของผู้ป่วย ที่ต้องการจะ ดูแล จัดการสุขภาพของตนเอง เพื่อต่อสู้กับปัญญาสุขภาพเรื้อรัง หรือ  participation ซึ่งลักษณะของ 4-P medicine ข้างต้นนี้ เป็นสิ่งที่ยอมรับกันว่าเป็นแนวทางการแพทย์เฉพาะบุคคล หรือ Personalized Lifestyle Medicine ของการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในศตวรรษที่ 21




 

เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
------------------------------------------------
https://www.ifm.org/find-a-practitioner/
share