เข้าใจผิด เข้าใจใหม่ ระบบเผาผลาญทำงานอย่างไร

Category: Sport Nutrition | September 10, 2019
นายแพทย์สมบูรณ์ รุ่งพรชัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sport Nutrition
     เมื่อพูดถึงการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย  คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นการเผาผลาญเพื่อให้ได้พลังงาน แล้วนำพลังงานนั้นไปใช้ทำอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด คอลัมน์นี้จึงจะปรับความเข้าใจเสียใหม่ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่า ระบบเผาผลาญทำงานทำงานอย่างไร

     ในทางการแพทย์ พลังงานที่ร่างกายเอาไปใช้นั้นมี 2 ลักษณะ 
  • แบบแรกคือ อนาบอลิค (Anabolic)  คือนำพลังงานไปสร้างโปรตีน  กล้ามเนื้อ กระดูก ขึ้นมาใหม่ เป็นการซ่อมแซมและเพิ่มพูนเนื้อเยื่อต่างในร่างกาย ผลคือทำให้ตัวใหญ่ขึ้น มีกล้ามเนื้อมากขึ้น
  • แบบที่สอง เรียกว่า แคทตาบอลิค (Catabolic) เป็นลักษณะที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าการเผาผลาญคือการลดน้ำหนัก เมื่อมีการเผาผลาญสูง เนื้อก็สลายออกมาเป็นพลังงานหมด ซึ่งจะทำให้ตัวเล็กลง
     ร่างกายของคนเราทำงานทั้ง 2 ระบบนะครับ  เป็นการทำงานในลักษณะที่เรียกว่า pendulum ลองนึกภาพตุ้มนาฬิกาที่มันจะแกว่งไปซ้ายแล้วก็จะแกว่งกลับมาขวาสลับกันไปมา ถ้าช่วงไหนร่างกายสั่งให้ระบบอนาบอลิคทำงาน หมายความว่าช่วงนั้นเป็นการสร้างเนื้อเยื่อ สร้างเนื้อเยื่ออย่างเดียว น้ำหนักก็จะไม่ลดลง แต่ถ้าช่วงไหนร่างกายสั่งให้ระบบแคตาบอลิกทำงาน ช่วงนั้นร่างกายก็จะไม่สร้างอะไรเลย เบิร์นทิ้งอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้มีอาการตัวร้อน เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว อะไรแบบนั้น
     การที่ทั้ง 2 ระบบทำงานเป็น pendulum หมายความว่าร่างกายไม่สามารถสั่งให้ระบบอนาบอลิกและแคทตาบอลิคทำงานพร้อมกัน ในเวลาเดียวกันได้ เพราะฉะนั้นคนเราไม่สามารถเบิร์นไขมันและสร้างกล้ามเนื้อในเวลาเดียวกันได้  มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน   
     ส่วนสิ่งที่จะสั่งการว่าระบบอนาบอลิค หรือแคตาบอลิคทำงานช่วงไหน นั้นคือ ฮอร์โมน ซึ่งจะส่งสัญญาณว่าเวลานี้ร่างกายควร เบิร์น หรือ บิวด์  ดังนั้นเราจึงมักเห็นว่า คนสองคนกินเท่ากัน แต่คนหนึ่งน้ำหนักขึ้น อีกคนน้ำหนักลด  เพราะถ้าระบบแคทตาบอลิคของใครทำงานมาก  กินเท่าไหร่ก็ไม่สะสมอยู่ในตัว กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ตัวจะผอมลีบเลย 
     ดังนั้นตัวแปรที่สำคัญ คือ ฮอร์โมน ไม่ใช่โภชนาการเพียงอย่างเดียว
     ถ้าถามว่าแล้วสภาพแบบไหนเหมาะสมกับสุขภาพของคนเรามากที่สุด อย่างที่บอกว่ามันเป็น  pendulum ดังนั้นมันต้องแกว่งไปแกว่งมาสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงโปรแกรมการออกกำลังกาย หรือโภชนาการของคนออกกำลังกาย จึงเป็นการวางแผนกันเป็นรอบ ๆ  ละ 1 เดือน  2 เดือน หรือ 3 เดือน ว่าช่วงไหนจะเบิร์น ช่วงไหนจะบิวด์ จะไม่มีการพูดเรื่องเบิร์นตลอดทั้งปี หรือบิวด์ตลอดปี เพราะถ้าเบิร์นตลอดหรือบิวด์เพียงอย่างเดียว ร่างกายจะไม่แข็งแรงจริง
     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะลดน้ำหนักสัก 3 เดือน คุณก็ต้องมีช่วงพักเพื่อซ่อมแซมเซลส่วนที่สึกหรอ เพราะเวลาที่กระบวนการแคตาบอลิคทำงาน มันไม่ได้เลือกเผาไขมันเพียงอย่างเดียว แต่มันเผาทิ้งทั้งหมด กล้ามเนื้อบางส่วนก็โดนด้วย ข้อบางส่วนก็อาจเสียหายไปบ้าง การที่ต้องพักบ้างเพื่อให้ร่างกายดึงเอาสารอาหารไปซ่อมแซมส่วนที่คุณไม่ควรจะเสียไป  แล้วการทำแบบนี้หลาย ๆ รอบ  คุณจะได้ร่างกายที่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ต่างจากคนที่ตั้งหน้าตั้งตาเบิร์น หรือ บิวด์อย่างเดียวในกรณีที่คนออกกำลังกายเอาแต่สร้างกล้ามเนื้อมาก ๆ  ก็อาจป่วยเป็นโรคเนื้องอกบ้าง มะเร็งบ้าง เพราะกล้ามเนื้อทำงานตลอดเวลา จะเห็นว่านักกีฬาหลายคนเสียชีวิตปุบปับ ทั้ง ๆ ที่เราก็เห็นว่าเขาตัวใหญ่โตแข็งแรง ไม่น่าตายง่าย ส่วนอีกกรณีเบิร์นอย่างเดียว ก็ผอมเกินไป แบบนี้ก็จะป่วยเหมือนกัน
     ดังนั้นจุดที่ถูกต้อง คือต้องมีความสมดุล ซึ่งเราเรียกว่า Ideal body Weight  ซึ่งเป็นที่มาของสูตรว่าถ้าตัวสูงเท่านี้ ควรมีน้ำหนักเท่าไหร่ อันนี้คือคนทั่วไป แต่ถ้าเราเจอนักกีฬา อดีตเป็นนักกีฬาทีมชาติ เราไม่ใช้สูตรนั้น แต่จะใช้สูตรที่เหมาะสมกับกิจกรรมของเขาด้วย คราวหน้ามาคุยกันเรื่องโภชนาการของคนออกกำลังกายกันครับ


เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
share