ความเหมือนที่แตกต่าง การแพทย์ธรรมชาติบำบัด VS การแพทย์ปัจจุบัน

Category: Natural Medicine | September 05, 2019
โดย ดร.ณิชมน สมันตรัฐ ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ด้านเนเชอโรพาธิค (naturaopathic) คนแรกของประเทศไทย จบการระดับปริญญาเอกและมีประสบการณ์การรักษาจากมหาวิทยาลับธรรมชาติบำบัดระดับโลก Bastyr University ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • คำว่า “การแพทย์ธรรมชาติบำบัด” (Naturopathy) นั้น  มีความหมายค่อนข้างกว้างขวาง และมีหลายรูปแบบ ในที่นี้หมายถึง Naturopathic Medicine ตามระบบการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแตกต่างจากการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันดังนี้
     1. ใช้เวลาในประมาณ 1 ชั่วโมงในการตรวจครั้งแรก เพื่อให้แพทย์ธรรมชาติบำบัดเข้าใจถึงปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อมและไลฟ์สไตล์ที่มีผลต่อสุขภาพของคุณ 

     ทำไมต้องใช้เวลาคุยกันถึงหนึ่งชั่วโมง 
เพราะแพทย์ธรรมชาติบำบัดต้องรู้ว่าความเจ็บป่วยที่มีนั้น เกิดจากอะไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ เกิดมานานหรือยัง คนไข้มีความเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพอย่างไร เพื่อจะได้หาสาเหตุของโรคที่ถูกต้อง เช่น ถ้าคุณปวดท้อง แพทย์ธรรมชาติบำบัดไม่อยากรู้แค่ว่า คุณปวดท้องมากหรือปวดท้องน้อย แล้วให้ยาไปกิน แต่อยากรู้ไปถึงว่าทำไมถึงปวด แพทย์ธรรมชาติบำบัดจึงต้องถามเยอะมาก ตั้งแต่ประวัติการรักษาที่ผ่านมา พฤติกรรมการกินอาหารเป็นอย่างไร ไลฟสไตล์เป็นอย่างไร ออกกำลังกายหรือไม่ มีความเครียดอะไรในชีวิตบ้าง อารมณ์เป็นอย่างไร  ถึงจะได้ภาพรวมเกี่ยวกับสุขภาพของแต่ละคนอย่างแท้จริง  
นับเป็นการรักษาแบบองค์รวมที่สุดแล้ว  แพทย์ธรรมชาติบำบัดจะรู้จักคนไข้ดีกว่าตัวคนไข้เองเสียอีก 

     2. ใช้การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ และไม่มีผลข้างเคียงระยะยาว
     แพทย์ธรรมชาติบำบัดใช้การบำบัดหลายชนิดร่วมกัน  เพื่อส่งเสริมกลไกในการซ่อมแซมร่างกายตามธรรมชาติ หากคนไข้กินยาแผนปัจจุบัน ก็จะใช้การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติอื่น ๆ ที่ไม่ขัดแย้งกับยาเคมีที่คนไข้ใช้อยู่
     การรักษาแบบธรรมชาติของแพทย์ธรรมชาติบำบัด  จะหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงสารเคมี (ในที่นี่หมายถึงยา) ยาที่แพทย์ธรรมชาติบำบัดใช้สกัดมาจากพืช ที่มีการศึกษาวิจัยและมีผลชัดเจนมาแล้วว่า ยาตัวนี้สกัดจากพืชชนิดไหน มีสารอะไร  มีประสิทธิภาพต่อร่างกายอย่างไร คือต้องอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ มีงานวิจัยรองรับ ไม่ใช่เด็ดดอกไม้ ใบไม้อะไรมาทำยาก็ได้
     คนไข้บางคนถามแพทย์ธรรมชาติบำบัดว่า ยาที่หมอจ่ายที่บ้านก็มี  กินแล้วทำไมไม่หายสักที  เช่น  โพรไบโอติก คนไข้บอกว่า ที่บ้านมีค่ะ เพิ่งซื้อมา พอให้แม่บ้านถ่ายรูปส่งมาให้ดู โพรไบโอติกที่คนไข้มีคือขนาด 1 Billion csu ก็ต้องบอกว่าโพรไบโอติกที่หมอใช้รักษาขนาด 50-100 Billion csu  ถ้ากินที่คุณมีอยู่แล้ว เท่ากับคุณต้องกินวันละ 50 เม็ด แต่ที่หมอสั่งให้คือ 1 เม็ด นี่คือการแพทย์ธรรมชาติบำบัด

     3. รักษาที่ต้นเหตุของโรคไม่ใช่เพียงอาการ
     แพทย์ธรรมชาติบำบัดไม่ได้รักษาตามอาการ แต่มุ่งค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของโรค เพื่อนำมาออกแบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ เช่น คนไข้ 2 คนมารักษาด้วยอาการปวดท้องเหมือนกัน แพทย์ธรรมชาติบำบัดจะถามว่าปวดลักษณะไหน ปวดแสบ ปวดเจ็บ ปวดตึง ปวดบิดเค้น หรือปวดเหมือนมีดแทง การถามแบบนี้ จะทำให้แพทย์ธรรมชาติบำบัดรู้ว่าอาการปวดท้องของทั้งคู่มีรูปแบบที่แตกต่างกัน จากนั้นก็ต้องค้นหาต่อว่า กินอะไรหรือทำอะไรแล้วทำให้อาการแย่ลง  คุณ A อาจบอกว่ากินอาหารแบบนี้แล้ว อาการแย่ลง  แถมมีกรดแก๊สและอาการเรออีกต่างหาก ส่วนคุณ B อาจบอกว่า ไม่เกี่ยวกับอาหาร แต่ถ้าเครียดปุ๊บจะปวดท้องทันที  แพทย์ธรรมชาติบำบัดก็ยิ่งเห็นความแตกต่างของอาการปวดท้องของคนไข้ทั้งคู่ชัดเจนมากขึ้น
     เมื่อคนไข้บอกว่าปวดท้อง ตอนแรกเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นโรคใดโรคหนึ่งใน 20 โรค แต่เมื่อแพทย์ธรรมชาติบำบัดถามไปเรื่อย ๆ จะสามารถตัดออกไปได้ทีละโรค โรคนี้ไม่ใช่แล้ว โรคนั้นก็ไม่ใช่ และเหลือโรคที่น่าจะเป็นน้อยลงเรื่อย ๆ 
     ในที่สุดแพทย์ธรรมชาติบำบัดก็รู้ว่า คุณ A ปวดท้องเพราะเป็นโรคกระเพาะ และอาจมีเรื่องกรดไหลย้อน ซึ่งต้องส่งตรวจเพิ่มเติม  ส่วนคุณ B เป็น IBS โรคลำไส้แปรปรวน เป็นเรื่องระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย วิธีรักษาคุณ A  และ คุณคนละเรื่องกันเลยนะคะ
     การที่แพทย์ธรรมชาติบำบัดซักประวัติอย่างละเอียด  เพราะเราไม่อยากให้คนไข้หายปวดท้องแค่สองชั่วโมง แต่แพทย์ต้องการให้เขาหายจากอาการดังกล่าวตลอดไป
                          
     4. มุ่งปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ในระยะยาว
     แพทย์ธรรมชาติบำบัดไม่ได้ใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่แนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมด้วย  เช่น  อาหารบางประเภทโดยทั่วไปเรียกว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ  แต่ไม่ได้ดีต่อสุขภาพของทุกคน  โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นโรคบางโรค  เช่น การกินอาหารมังสวิรัติ ถามว่าดีไหม คำคือดี แต่ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น ปลายประสาทอักเสบไม่หายสักที  ถ้ายังคงกินอาหารมังสวิรัติ จะทำให้อาการหนักขึ้นไปอีก เพราะขาดวิตามินบี 12  
     หรือการลดน้ำหนักด้วยการกินอาหารคีโต ซึ่งกำลังฮิตมาก กลุ่มคนไข้ที่ได้ประโยชน์จริง ๆ คือ เด็กที่เป็นโรคลมชัก และผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด ถ้าเป็นคนทั่วไปที่มีปัญหาเรื่องตับ แล้วกินอาหารคีโตเข้าไปอีก ก็จะยิ่งทำให้ตับมีปัญหาหนักขึ้นอีก
     แม้แต่เรื่องการออกกำลังกาย  แพทย์ธรรมชาติบำบัดก็ต้องช่วยพิจารณาว่าการออกกำลังกายนั้น เหมาะกับสุขภาพร่างกายของเราหรือไม่ เช่น ถ้ามีปัญหาเรื่องต่อมหมวกไต ซึ่งทำให้ผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลได้น้อย  ถ้ายังตะบี้ตะบันไปชกมวย ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบหนัก ซึ่งต้องใช้ฮอร์โมนคอร์ติซอลค่อนข้างมาก  ยิ่งทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนตัวนี้มากขึ้นไปอีก เพราะร่างกายผลิตได้เท่าไหร่เอาไปใช้ชกมวยหมด  มาถึงออฟฟิศก็เหนื่อยล้าทำงานไม่ได้
     หรือถามว่าวิ่งดีไหม แพทย์ธรรมชาติบำบัดจะตอบว่า โดยทั่วไปคือดี แต่ถ้าคุณเป็นโรคเกี่ยวกับเข่า ข้อเข่า  แล้วไปวิ่ง ก็จะยิ่งทำให้อาการหนักขึ้นไปอีก จึงควรไปออกกำลังกายในน้ำแทน เพราะไม่มีผลกับข้อเข่า  ในขณะเดียวกันสามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้เท่ากัน ใช้กล้ามเนื้อประเภทเดียวกัน 
     วิธีรักษาของแพทย์ธรรมชาติบำบัดไม่คาดหวังว่า มาเจอกันครั้งเดียวแล้วจบ แต่เราอยากดูแลคนไข้ในระยะยาว เพราะเป้าหมายของแพทย์ธรรมชาติบำบัดคือ อยากให้เขาหายจากโรคหรืออาการที่เป็น  มีสุขภาพดีในระยะยาว  และในที่สุดแล้วอยากให้ไลฟ์สไตล์เป็นยาให้ตัวเขาเอง การใช้ยาใด ๆ ก็ตาม แม้ว่าจะเป็นยาสมุนไพรก็ตาม เป็นเพียงตัวช่วยในระยะสั้นเท่านั้น 


เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
share