3 ขั้นตอน ปรับวิธีคิด เปลี่ยนไลฟสไตล์ แก้โรคเครียด ทำได้หายเลย

Category: Nutrition | August 27, 2019
โดย เอื้อมพร แสงสุวรรณ NTP (Nutrition Therapy Practitioner)
  • สาเหตุหนึ่งของความเครียดคือ วิธีคิด และไลฟสไตล์ เราทุกคนยอมรับเรื่องนี้กันอย่างดี เมื่อประกอบการกินอาหาร ที่ก่อให้เกิดท็อกซิน รวมทั้งมลพิษรอบตัว ความเครียดก็ยิ่งรุนแรงและเรื้อรัง สุดท้ายก็ลุกลามไปยังระบบต่าง ๆ เราเลยมีวิธี ปรับวิธีคิด เปลี่ยนไลฟสไตล์ แก้โรคเครียด มาฝาก ทำได้หายเลย


 
     (อย่าลืมว่า ความเครียดเกินจากอาหารการกินด้วยนะ เช่น อาหารที่เป็นแป้งขัดขาวหรือทำจากแป้งขัดขาว อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาล น้ำหวาน อาหารแปรรูป อาหารที่มีส่วนผสมของสารเคมี ที่จะกลายเป็นภาระของร่างกาย ขณะย่อยอาหาร สุดท้ายก็กลายเป็นท็อกซิน ที่ก่อความเครียดต่อร่างกาย และอวัยวะต่าง ๆ)
     อย่างไรก็ตาม บทความครั้งนี้ เราจะกล่าวถึงแต่เฉพาะไลฟสไตล์ที่ก็สร้างความเครียดรุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการลุกลามไปยังระบบต่าง ๆ นั้น ที่มาจากธรรมชาติของโรคเครียดนั้น เกิดจากการที่ต่อมหมวกไตต้องหลั่งคอร์ติซอล มาจัดการกับภาวะที่ร่างกายกำลังเกิดวิกฤติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากน้ำตาลในเลือดตก และระบบร่างกายจะเข้าใจว่า กำลังวิ่งหนีเสือ หรือกำลังจะตาย จึงต้องหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล เพื่อมาดึงพลังงานจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมาใช้ รักษาระดับการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตที่สูงขึ้น
     แน่นอนว่า ถ้าเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้งคงไม่เป็นไร แต่ชีวิตยุคใหม่ที่วิถีการกินอยู่ล้วนต้องสัมผัสกับท็อกซิน ทั้งจากอาหารและสิ่งแวดล้อม ภาวะความเครียดภายในร่างกายจึงเกิดขึ้น ทุก 2-3 ชั่วโมง และติดต่อกันเกือบทุกวัน เป็นเดือน เป็นปี ก็จะเกิดอาการอื่น ๆ ที่เป็นผลกระทบของความเครียดเรื้อรัง จนกลายเป็นโรคเครียด เช่น การนอนไม่หลับ ปัญหาการควบคุมอารมณ์ ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีลูกยาก น้ำหนักเพิ่ม ลดน้ำหนักยาก ติดอาหารบางอย่าง
     นอกจากการปรับอาหารเพื่อ แก้โรคเครียด ปรับไลฟสไตล์ให้ผ่อนคลายและช้าลงบ้างแล้ว ยังมีการปรับเปลี่ยนอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การปรับวิธีคิด ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนไลฟสไตล์เราได้ทั้งนี้ เราอาจจะต้องตั้งใจทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้

     ขั้นตอนที่ 1
     แยกเรื่องดี ออกจากเรื่องร้าย
     เพื่อเราจะแยกคนดีออกจากคนไม่ดีให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้มีความจำเป็นมากต่อชีวิต โดยเฉพาะการแก้โรคเครียด เนื่องจากการสร้างความเข้าใจต่าง ๆ ต่อเรื่องราว และคนรอบตัว เป็นการสร้าง mind set หรือกำหนดจิต ให้เราสามารถแยกแยะเรื่องราวต่าง ๆ ว่าอะไรดี อะไรร้าย รวมทั้งผู้คนในชีวิตว่า ใครดีต่อเรา ใครไม่ดีต่อเราให้ได้ เพื่อสุดท้าย สมองเราจะได้ทำงานเป็นอัตโนมัติเมื่อทำได้ เรื่องที่ทำให้เกิดภาวะเครียดในชีวิตจะลดลงทันที
     ทั้งนี้วิธีง่าย ๆ สำหรับผู้ฝึกหัดแยกแยะคือ การบันทึก โดยทุกวัน (อาจเป็นช่วงเวลาก่อนนอน) ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงในการทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ โดยแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นสองช่อง ช่องแรกบันทึกว่าอะไรใช่ ส่วนช่องที่สองบันทึกว่า อะไรไม่ใช่สำหรับเรา และถ้าเป็นไปได้ ควรระบุด้วยว่า เมื่อรู้สึกแย่กับเรื่องราวนั้น ๆ แล้ว ชีพจรเต้นแรงไหม และใช้เวลานานเท่าไรกว่าความรู้สึกผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายจะหายไป และวิธีเดียวกันนี้ เราสามารถใช้ในการบันทึกการกินอาหารด้วย เช่น กินอาหารอะไรมื้อไหน แล้วทำให้รู้สึกผิดปกติ ทุก ๆ สัปดาห์ ควรมีการสรุปผล เพื่อให้ตัวเองรู้ว่า เรื่องราว คน หรืออาหารชนิดไหนที่ส่งผลลบกับเรารุนแรงที่สุด แล้วจัดลำดับ 1-5 พร้อมทั้งจัดลำดับสิ่งที่ดีที่สุด 1-3

     ขั้นตอนที่ 2
     จัดหมวดหมู่เรื่องราว ผู้คน และอาหารที่ทำให้รู้แย่
     เมื่อทำขั้นตอนแรกนานติดต่อกันสักเดือนหรือสองเดือน จนเราเริ่มมี mind set ใหม่แล้ว ต่อมาคือการระบุให้ชัดว่า เรื่องราว ผู้คน และอาหารอะไร ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีนั้นมาจากไหน เช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสิ่งแวดล้อมทั่วไป เพื่อที่เมื่อเราต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่ดังกล่าว เราจะได้เตรียมตัวและใจให้พร้อม
     การเตรียมตนเองให้พร้อมนั้น หมายถึง การกำจัดปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีออกให้เหลือน้อยที่สุด เช่น ถ้าต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องลูกที่ดื้อและช่างเถียงมาก เมื่อต้องอยู่บ้าน หรือต้องดูแลเขาตลอดช่วงวันหยุด เราก็ควรกินอาหารที่ทำให้รู้สึกดี หรือทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกดี

     ขั้นตอนที่ 3
     ทำแต่เรื่องดี
     ถ้าการเข้าวัด ฟังธรรมะทำให้คุณรู้สึกดี ก็ให้หาเวลาทำบ่อย ๆ เช่นกันกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้รู้สึกสดชื่นเบิกบาน ก็จงทำบ่อย ๆ
     ส่วนการที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องไม่ดี ที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ นอกจากขั้นตอนที่ 2 ที่คุณต้องพยายามลดปัจจัย ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีในชีวิตแล้ว การแก้ปัญหาหรือการออกจากสถานการณ์ไม่ดีนั้น ก็จำเป็นที่ต้องทำอย่างละมุนละม่อม
เช่น กรณีที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องลูกที่ดื้อและช่างเถียงมาก ก็ควรลดมาตรฐานของตัวเองลง เปิดใจและทำความเข้าใจเขามากขึ้น บางทีอาจช่วยให้เราอาจเห็นเรื่องลูกในมิติใหม่ เช่น เขาดื้อมากเพราะเขาเริ่มโต และอยากลองตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือดื้อเมื่ออยู่ในบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งกรณีหลังอาจแก้ปัญหาด้วยการพาลูกไปเที่ยว ซึ่งก็จะช่วยผ่อนคลายตนเองด้วย
     อย่างไรก็ตาม การปรับวิธีคิดตามคำแนะนำข้างต้นแล้วนั้น ควรทำร่วมกับการลด/งดแป้งขาว ของหวาน อาหารแปรรูป อาหารปนเปื้อนสารเคมี และท็อกซินต่าง ๆ รอบตัว


ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ Adrenal Fatigue, The 21st Century Stress Syndrome ของดร.นายแพทย์ เจมส์ แอล. วิลสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมชาติบำบัด
 
เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
share