เราจะเป็นอิสระจาก “การติด” ได้อย่างไร

Category: Mental Health | November 25, 2019
โดย พศิน อินทรวงค์ นักเขียนและนักบรรยาย เรื่องแรงบันดาลใจ ตามหลักพุทธศาสนา
  •      การติดทุกรูปแบบมาจากความเคยชินต่อบางสิ่ง เมื่อเราเกิดความเคยชิน จิตใจเราจะย้ำคิดย้ำทำ เกิดเป็นความอยากต่อสิ่งนั้นซ้ำๆ เมื่อเราเกิดความอยากแล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยงดเว้นมันได้คือการสร้างระเบียบวินัย และเมื่อเรางดเว้นไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ความอยากมันจะลดลงไปเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยากเป็นคนเรียนเก่ง แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเราเองขี้เกียจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยเพราะเราฝึกตัวเองให้เคยชินกับความขี้เกียจไปเสียแล้ว 
     ดังนั้นเราต้องปฏิบัติต่อไปทั้งๆ ที่ตัวเรายังเป็นคนขี้เกียจอยู่ เมื่อเราผ่านตรงนั้นไปได้ความขี้เกียจจะเบาบางลง แต่การปฏิบัตินั้นต้องอาศัยระเบียบวินัยกับตัวเองด้วย 

     มนุษย์ไม่มีทางลัด หากคุณไม่มีอำนาจเหนือใจตนเอง คุณก็ไม่สามารถทำสิ่งใดได้
     เหมือนเช่นการเสพติดของหวานแล้วอยากเลิก สิ่งแรกที่ต้องมี คือความตั้งใจที่จะเลิกกินหวาน ถึงจะทรมานมากแค่ไหน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะเกิดความเคยชิน 
     สิ่งที่เราพยายามจะบอก นั่นก็คือมนุษย์ไม่มีทางลัดอะไร เราอยากทำสิ่งไหน ควรลงมือทำสิ่งนั้น หากไม่อยากกินหวานก็ต้องตัดสินใจเลิกกิน หากอยากมีสุขภาพดี ก็ควรจะบริโภคสิ่งที่ดีเข้าไปในร่างกาย คนที่มีสุขภาพดีบนโลกใบนี้ ล้วนต้องเคยผ่านการเคี่ยวกรำตนเองมาอย่างหนัก ดังนั้นคนเหล่านี้จึงทราบดีว่าสิ่งไหนที่ไม่ดีและเป็นความเคยชิน จำต้องเปลี่ยนไปทิศทางใหม่ และทิศทางนั้นต้องผ่านความยากลำบาก ทุกๆ คนต้องก้าวข้ามไปให้ได้ 
     ปัญหาอย่างหนึ่งของการเลิกติดของหวานไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่กินหวาน แต่กลับอยู่ที่ว่าทำอย่างไรถึงจะมีกำลังใจในการลดละมัน เราสามารถสร้างพฤติกรรมนี้ได้กับครอบครัวของเรา โดยการชวนทุกคนในครอบครัวให้ช่วยกันดูแลสุขภาพและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เป็นกำลังใจให้กัน ช่วยเตือนกันเวลาหมดความตั้งใจ แล้วอยากกินมันขึ้นมาอีก 
     แต่ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าวินัยเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างสำหรับคนที่ทำแล้วสัมฤทธิผล บางคนทำแล้วไม่สัมฤทธิผล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจ ทุกเรื่องล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับวินัย หากกล่าวในเรื่องของธรรมะนั้น วินัยข้อแรกคือศีล ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรถือปฏิบัติ หากทำได้ชีวิตก็ไม่เดือดร้อน ถ้าทำไม่ได้ชีวิตก็เดือดร้อน
     
     การมีวินัยมากๆ เพราะว่ามีศีลแข็งแรง
     คนมีวินัยได้ต้องเกิดจากการเป็นคนมีศีลที่แข็งแรง เช่น เรื่องการกิน เราต้องคิดให้ได้ว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ตราบใดที่คนเราไม่เข้าใจสิ่งนี้ เราจะมีแค่กฎระเบียบซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใจจริงๆว่าต้องดูแลสุขภาพไปเพราะเหตุใด ร่างกายของเราเป็นของเรา หากคิดว่าร่างกายเป็นของฟรี จนหลงลืมคุณค่าของมันไป จนเมื่อวันหนึ่งเราล้มป่วยลง เราจึงจะเห็นค่าของร่างกายเรา เพราะฉะนั้นในวันที่เรามีสุขภาพดี เราต้องเกิดความตระหนักให้ได้ว่าร่างกายนี้สำคัญ เมื่อนั้นแล้วเราจะมีกำลังใจในการควบคุมการกิน แต่ถ้าอยู่ในช่วงที่เรายังไม่เกิดความตระหนัก การมีวินัยยังมีความจำเป็นอยู่ การยึดถือทั้งกฎระเบียบและความเข้าใจจริงๆ เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไป 
     ถ้าหันกลับมาพิจารณาในทางธรรมะแล้ว การมีศีลคือข้อที่พึงกระทำหรือควรงดเว้น อันนี้อาจเรียกเป็นกฎระเบียบได้ แต่เป็นการเจริญสติเพื่อให้เห็นประโยชน์จริงๆ ในสิ่งที่ได้ลงมือกระทำหรืองดเว้นนั้นด้วย
     หากจะกล่าวกันตามตรงคือ สุขภาพไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันหรือดูแลเยอะเกินไปก็ได้ แต่หากเราป่วยหรือเป็นโรคแล้ว เราต้องเข้าใจและยินดีกับผลที่ตามมา เพราะนั่นคือสิ่งที่เราสะสมมาตั้งแต่ต้น เช่น ถ้าวันหนึ่งคุณเป็นมะเร็งขึ้นมา คุณต้องยอมรับว่าเพราะการรับประทานตามใจปาก ซึ่งคุณถือเป็นความสุขและสั่งสมมานานเลยทำให้เกิดโรคร้ายนี้ นี่คือสิ่งที่ต้องแลก เปรียบได้กับการใช้โควตาความสุขไปแล้วนั่นเอง อีกมุมหนึ่ง หากเราไม่กินอาหารตามใจปาก รสชาติอาจจะไม่อร่อยเหมือนคนที่กินหวาน กินเค็ม ยอมที่จะไม่มีความสุขกับการกินเพื่อตัวเองจะได้ไม่เป็นโรค ก็ถือเป็นการเก็บโควตาความสุขมาใช้ทีหลัง เพราะว่าเราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับร่างกายที่สมบูรณ์และไม่มีโรคที่เกิดจากการรับประทานตามใจปากนั่นเอง


เรียบเรียงโดย วินนา รักการ
ขอบคุณภาพจาก unsplash
share